สงเคราะห์โลงศพฟรี สงเคราะห์เผาศพฟรี สงเคราะห์ลอยอังคารฟรี แก่ผู้ยากไร้ไร้ญาติ


เปรตสองพี่น้อง

 “หลวงพ่อจวน ภูทอก ท่านได้จำพรรษาที่ภูสิงห์ ท่านไปเดินจงกรมบนยอดเขา เวลาเดินไปท่านก็พิจารณาใน กายคตานุสติกรรมฐาน ได้แก่อาการ ๓๒ ของร่างกายมี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ตับ ไต ไส้ ปอด เป็นต้น โดยพิจารณาเบื้องต้นต่ำตั้งแต่ฝ่าเท้าขึ้นมาเบื้องสูงถึงปลายผม และจากปลายผมลงมาเบื้องต่ำถึงฝ่าเท้า ว่าทุกส่วนของร่างกายมันเต็มไปด้วยความสกปรก เต็มไปด้วยปฏิกูลของโสโครก การพิจารณาอย่างนี้เป็นสมถภาวนา และในด้านวิปัสสนาภาวนา ก็คิดว่านอกจากมันจะสกปรกแล้ว มันยังเป็นอนิจจังหาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้ คือไม่มีการทรงตัว เกิดมาแล้วก็เปลี่ยนแปลงคือโตขึ้น พอถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาวก็เปลี่ยนสภาพทรุดตัวลงคือแก่ เรียกว่ามีความเสื่อมไปทุกขณะจิตที่ล่วงไป หรือทุกลมหายใจเข้าออกที่ผ่านไป

มันเป็นความเสื่อมของร่างกายและร่างกายก็เป็นปัจจัยของความทุกข์ เพราะเมื่อเรามีร่างกายอยู่ มันมีความหิวความกระหาย มีการป่วยไข้ไม่สบาย มีการกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ มีการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ มีความปราถนาไม่สมหวังนานาประการ สิ่งเหล่านี้รบกวนอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดความทุกข์ เพราะทุกข์คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ

 “ตัวต้นเหตุของความทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้ก็เพราะเราเกิดมีร่างกายตัวเดียว “

หลวงพ่อจวนท่านเดินพิจารณาอยู่อย่างนี้เรื่อย ๆ ไป เมื่อพิจารณาไป ๆ จิตก็เข้าถึงสมถะและวิปัสสนา คืออารมณ์เป็นสมาธิ ที่อารมณ์เป็นสมาธิก็เพราะมีการทรงตัวคิดเฉพาะเรื่องกายอย่างเดียว อารมณ์ทรงสมาธิไม่ใช่มีแต่ การภาวนา อย่างเดียว การพิจารณาก็เป็นสมาธิได้ ขณะใดที่พิจารณาอยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ ก็หมายถึงเป็นสมาธิในกองนั้น

เมื่อเป็นสมาธิแล้วก็เป็นทั้งสมถะด้วยวิปัสสนาด้วย จิตก็เริ่มสะอาดจากกิเลส เมื่อจิตสะอาดจากกิเลสอารมณ์ของจิตก็เริ่มเป็นทิพย์ เมื่ออารมณ์จิตเป็นทิพย์ จิตก็สามารถจะสัมผัสกับกลิ่น แสง เสียง สี และสิ่งที่เป็นทิพย์ได้

ฉะนั้น ขณะที่ท่านพิจารณาไปเดินไปเดินมาอยู่นั้นก็ได้กลิ่นแปลก ไม่ใช่กลิ่นสุนัขเน่าหรือคนเน่าเหม็นคาวของคน มันเป็นกลิ่นที่ไม่เคยปรากฏก่อน ท่านก็เดินไปใคร่ครวญพิจราณาขันธ์ ๕ ไป จิตก็จิตสัมผัสกลิ่นไป ในที่สุดท่านก็สงสัยว่ากลิ่นอะไร ท่านก็ใช้กำลังของทิพพจักขุญาณถามว่า “กลิ่นที่ได้รับเป็นกลิ่นอะไร” จิตก็ตอบว่า “กลิ่นที่ได้รับสัมผัสนั้นเป็นกลิ่นเปรต” เมื่อทราบว่าเป็นเปรต ท่านก็อุทิศส่วนกุศลให้ดังนี้

 “บุญใดที่ฉันบำเพ็ญมาแล้วตั้งแต่จนถึงปัจจุบัน ผลบุญนี้จะผลแก่ฉันเพียงใด ขอเธอจงโมทนาบุญนี้ รับผลเช่นเดียวกับฉันตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

พอท่านนึกอธิษฐานจิตอุทิศส่วนกุศลให้เท่านั้น กลิ่นก็หายไป หลังจากนั้นท่านเลิกเดินจงกลมแล้วมานั่ง ท่านเห็นผู้หญิงสองคนเดินมาข้าง ๆ ท่านก็ถามว่า เธอสองคนเป็นใครและเป็นอะไรกัน ” เธอก็ตอบว่า เธอทั้งสองเป็นพี่น้องกัน ท่านถามว่า “ คนไหนเป็นพี่ ” เธอก็ชี้ตัวเธอเป็นพี่ ท่านถามว่า “ คนไหนเป็นน้อง ” เธอก็บอก “ คนนี้เป็นน้อง ” ถามว่า “ เวลานี้เป็นอะไร ”เธอก็ตอบว่า “ เป็นเปรตที่แสดงตน ” ท่านถามคนพี่ว่า “ ชื่ออะไร ” เธอตอบว่า “ ชื่อนางสาวทาและน้องชื่อนางสาวสีบวกกันสองคนเป็นทาสี ”

ถามว่า “ ทำไมตายแล้วจึงมาเป็นเปรต ”

เธอตอบว่า “ สมัยที่เธอมีชีวิตอยู่ เธอเอาตัวหม่อนมาต้มเอาใยไหม อันนี้เป็นปัจจัยให้เธอเกิดเป็นเปรต ”

เรื่องนี้เป็นตัวอย่างว่า “ ตายแล้วไม่สูญ ” ถ้าหากเรามาพิจรณากายคตานุสสติ ก็พิจรณาให้เห็นตามความเป็นจริงว่าร่างกายนี้เป็นเปลือกที่เราอาศัยชั่วคราว ไม่มีการทรงตัว ถ้าเรายึดถือมันเกินไป มันก็เป็นทุกข์ เพราะร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แล้วเราคือใคร ก็ต้องไปดูเปรตสองเปรตคือ เปรตทากับเปรตสี ความจริงร่างกายเดิมเธอเขาเผาหรือฝังไปแล้ว แต่สภาพที่ปรากฏนั้นไม่ใช่ร่างกายที่มีเนื้อมีหนังแต่เป็นร่างกายที่เราเรียกว่า “ อทิสสมานกาย ” มีการลงโทษ มีการเจ็บปวด เหมือนเราเจ็บปวดเหมือนกัน ถึงแม้จะเป็น นามธรรม ก็ตาม ตัวแท้ ๆ ของเราก็เหมือนกับสองสาวคือสาวทากับสาวสีนั้นแหละ

รวมความว่าเรื่อง กายคตานุสสติ นี้มีความสำคัญมาก

สำหรับสมถภวานาเรียกว่า “กายคตานุสสติ” ถ้าวิปัสสนาภาวนาเรียกว่า “สักกายทิฏฐิ” มันตัวเดียวกันและเราตัดตัวเดียวคือตัดสักกายทิฏฐิ มี ๓ ขั้นตอนคือ

๑ . มีความรู้สึกว่า ชีวิตนี้จะต้องตาย ไม่ปรามาทในชีวิต เป็นอารมณ์ของพระโสดาบันกับพระสกิทาคามี

๒ . มีความเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ร่างกายสกปรกโสโครกน่าเกลียด ไม่มีตัญหาเกิดขึ้นจากร่างกาย เป็นอารมณ์ของพระอนาคามี

๓ . ถ้าจิตวางเฉยในร่างกายทั้งหมด ร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นเราก็เฉยหมดอย่างนี้เป็นอารมณ์ของพระอรหันต์

ถ้าวางเฉยได้ไปพระนิพพานได้ ถ้าวางเฉยไม่ได้ไปพระนิพพานไม่ได้ เราต้องตัดสักกายทิฏฐิให้ได้ คือการวางเฉยในร่างกายเรียกว่า “สังขารุเปกขาญาณ” เป็นวิปัสสนาญาณตัวสุดท้าย...”