สงเคราะห์โลงศพฟรี สงเคราะห์เผาศพฟรี สงเคราะห์ลอยอังคารฟรี แก่ผู้ยากไร้ไร้ญาติ


ปลดหางกระเบนรับศีล

ที่วัดในชนบทแห่งหนึ่ง ในวันพระจะมีอุบาสกและอุบาสิกามารักษาอุโบสถศีลกันมาก โดยมีอุบาสกเจ้าเนื้อ(อ้วน) สูงอายุคนหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นหัวหน้า (มัคนายก) ในการนำขอศีลและถวายทาน เป็นต้น ในจำนวนผู้ที่มารักษาศีลกลุ่มนั้นก็มีอุบาสกหนุ่มเจ้าความคิดคนหนึ่ง เขาเกิดความสงสัยว่า เหตุใดเวลาจะกล่าวคำอาราธนาขอศีลทุกครั้ง อุบาสกผู้นำจึงต้องปลดหางกระเบนออกเสียก่อน และพวกอุบาสิกาที่นุ่งผ้าโจงกระเบน ก็พลอยปลดหางกระเบนออกตามกันเป็นแถว

วันหนึ่ง เขาอดรนทนไม่ไหว เมื่อได้โอกาสเหมาะดีจึงคลานเข้าไปใกล้มัคนายก แล้วถามขึ้นอย่างสุภาพว่า “ขออภัยเถอะพ่อลุง เหตุใดพ่อลุงจึงต้องปลดหางกระเบนออกทุกครั้ง ที่จะกล่าวคำขอศีลจากพระเล่าขอรับ ?”

อุบาสกเจ้าเนื้อทำท่าอึกอักอยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็โพล่งออกไปว่า “เอ้อๆ, พ่อหนุ่ม ถ้าข้าไม่ปลดหางกระเบนออกเสียก่อน แล้วศีลมันจะเข้าทางไหนกันละเว้ย !” อุบาสกหนุ่มได้ฟังแล้ว ก็พยักหน้าร้องอ้อๆ ยกมือไหว้ขอบคุณ แล้วก็ถอยกลับไปนั่งยังที่ของตน แล้วท่านผู้อ่านละ เห็นด้วยกับคำตอบนี้หรือไม่ ?

แต่มีเรื่องจริงไม่อิงความเท็จเป็นความหลังว่า ในวันสงกรานต์ปีหนึ่ง ลูกสะใภ้ใจดีได้ซื้อผ้านุ่งโจงกระเบนไหมมาให้เป็นของขวัญวันปีใหม่ (สมัยเก่า) แก่พ่อผัว ๑ ผืน แต่ลูกสะใภ้คงจะเป็นนักคำนวณสมองฝ่อไปนิดจึงซื้อผ้านุ่งผืนเล็กไปหน่อย ประกอบกับพ่อผัวเป็นคนค่อนข้างอ้วนด้วย เมื่อนุ่งผ้าแล้วหางกระเบนก็เลยสั้น เหน็บไม่ค่อยจะอยู่ อีกประการหนึ่งผ้าไหมก็รื่นด้วย เวลาปกติก็พอเหน็บอยู่แต่เวลาก้มก็มักจะหลุดเป็นประจำ เพื่อตัดความรำคาญแกจึงปลดมันออกเสียก่อนเมื่อเวลาจะกราบพระ คนที่อยู่ข้างหลังแกโดยเฉพาะอุบาสิกาที่นุ่งผ้าโจงกระเบน พอเห็นมัคนายกปลดหางกระเบน ต่างก็พากันปลดออกตามเป็นแถว

ด้วยเหตุนี้ เมื่อมัคนายกลุกขึ้นนั่งคลุกเข่า แล้วร้องประกาศว่า “เชิญรับศีลพร้อมกันเจ้าข้า” พออุบาสกกล่าวจบ แกก็จะเอามือหนึ่งปลดหางกระเบนออก พวกอุบาสิกาที่อยู่ด้านหลังๆ ก็จะพากันปลดตาม เสียงหางกระเบนจึงกระทบพื้นศาลาดังแปะๆ ไปทั่ว ส่วนอุบาสกหนุ่มผู้ขี้สงสัยผู้นี้ เป็นคนเพิ่งจะมาใหม่และยังไม่เคยพบเห็นเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน แกจึงอดความสงสัยไว้ไม่ได้ เมื่อสบโอกาสแกจึงได้เรียนถามขึ้นดังกล่าว จากคำบอกเล่า ยังกล่าวต่อไปอีกว่า มัคนายกแกชอบผ้าผืนนี้ จะด้วยเห็นเป็นผ้าราคาแพงหรือเพราะจะเอาใจลูกสะใภ้ก็สุดจะเดา แกจึงมักจะนุ่งผ้าผืนนี้มาวัดเป็นประจำ

ที่มา http://www.dhammajak.net/book-dhammaraksa/-13-2.html