สงเคราะห์โลงศพฟรี สงเคราะห์เผาศพฟรี สงเคราะห์ลอยอังคารฟรี แก่ผู้ยากไร้ไร้ญาติ


ศีล (ของพระธรรมปิฎก)

จาก “เล่าเรื่องให้โยมฟัง” ชุดที่ ๑ ของพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)
(ปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๙ ทรงพระสมณศักดิ์ที่ พระพรหมคุณาภรณ์)

คำว่า ศีล แปลว่าอะไร ความหมาย ของศีลในเบื้องต้นท่านก็ให้ไว้หลายอย่าง แต่คำแปลที่ง่ายที่สุด ท่านแปลกันว่า ปกติ ก็เลยมีผู้นำเอาคำว่า ศีล มาอธิบายในความหมายว่า ปกติ คือ คนเราถ้ามีศีล ก็เรียกว่ารักษาปกติ หรือสภาพที่เป็นปกติของตนๆ เช่น เป็นพระเมื่อรักษาศีลของพระก็เรียกว่าเป็นการรักษาสภาพปกติของพระ ถ้าไม่ปฏิบัติตามศีลก็ไม่ใช่อยู่ในสภาพปกติของพระ กลายเป็นประพฤติเหมือนชาวบ้าน เป็นต้น แม้แต่ชาวบ้านทั่วไปก็มีศีลของชาวบ้าน อย่างศีล ๕ ก็แสดงถึงความเป็นอยู่ปกติของคนทั่วไป หมายความว่าตามสภาพปกตินั้น คนเราก็ไม่ฆ่าแกงกัน ไม่เบียดเบียนทำร้ายกัน ไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินกันอย่างนี้ เป็นต้น เรียกว่าเป็นอยู่กันกันตามปกติ แต่เมื่อใดทำอะไรผิดแปลกขึ้นมาโดยละเมิดในสิ่งเล่านี้ มีการเบียดเบียนกันก็แสดงว่ามีอาการไม่ปกติเกิดขึ้น จากการทำไม่ปกติของบุคคลหนึ่ง ก็มีผลทำให้สังคมนี้ไม่ปกติ

ความปกตินั้นรวมไปถึงการอยู่อย่างสบายๆ มีความสุขซึ่งเป็นภาวะทีสงบ แต่ถ้ามีการละเมิดศีลขึ้นมาก็ไม่เป็นปกติสุข ไม่เรียบร้อย ก็เกิดความวุ่นวายสูญเสียความสงบ แต่ภาวะที่ไม่ปกติอย่างนั้นมันก็เริ่มมาจากจิตใจคน ก่อนที่จะแสดงออกภายนอกไม่ปกติ จิตใจก็ไม่ปกติ ถ้าจิตใจปกติก็อยู่เรื่อยๆ ไปตามธรรมดา ความคิดนึกทำอะไร ก็ดำเนินไปตามเรื่อง ในชีวิตประจำวัน แต่พอเกิดความโลภนั้น เช่น ไปลักของเขา นี้ก็ทำผิดปกติออกมาภายนอก หรือมีความโกรธ จิตใจก็ผิดปกติ เมื่อทำตามจิตใจที่ไม่ปกตินั้น ก็ไปฆ่าฟันเบียดเบียนคนอื่น ทำร้ายเขาก็เกิดความไม่ปกติขึ้นในความประพฤติของตน แล้วขยายความผิดปกติออกไปในหมู่ชนในสังคมเรื่อยไป ท่านก็เลยให้ความหมายของศีลในแง่หนึ่งว่า เป็นความปกติ

การมีศีลทำให้มนุษย์ได้อยู่กันเป็นปกติ เพราะแต่ละคนๆ ก็รักษาสภาพปกติของตน เมื่ออยู่เป็นปกติ จิตใจเป็นปกติแล้ว ไม่ว่าจะพูดจะทำอะไร จะคิดนึกในสิ่งทั้งหลายก็จะทำได้ราบรื่นดี แต่ถ้าจิตใจไม่ปกติ พูดและทำผิดปกติแล้ว ก็จะเกิดความขัดแย้ง ปั่นป่วนวุ่นวาย จะไปคิดทำการทำงานอะไรที่เป็นไปในทางที่ดีงาม ก็เป็นไปได้ยาก มีแต่จะนำไปสู่ความทุกข์ อันนี้ก็เป็นความหมายหนึ่งของคำว่า ศีล

นอกจากนั้น ศีลก็แปลว่า ความสำรวม ความระวัง ความสำรวมระวัง ก็คือ การรักษาชีวิต หรือการดำเนินชีวิตของเราให้อยู่ในสภาพปกตินั่นเอง เพราะฉะนั้น ที่ว่าสำรวมหรือระวังนี้ก็มาสัมพันธ์กับเรื่องความเป็นปกติ กล่าวคือ เราควรระวังรักษาตัวของเราไม่ให้ล่วงละเมิด ไม่ให้ทำสิ่งที่เป็นพิษภัย ทำให้เกิดโทษแก่ผู้อื่น และความหมายที่ว่าสำรวมระวังนี้ ก็ไปสัมพันธ์กับความหมายอีกอย่างหนึ่งของศีล กล่าวคือ ถ้าเราดูตามคำสอนของพระพุทธเจ้าในหลักที่เรียกว่า หัวใจพุทธศาสนา ที่พระมักจะสอนในวันมาฆบูชา ท่านบอกว่า หนึ่ง ไม่ทำชั่วทั้งปวงหรือเว้นจากความชั่ว สอง ทำดี และสาม ทำใจให้บริสุทธิ์ อันนี้เราถือกันมาว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ข้อที่หนึ่งที่ว่าเว้นชั่วนั่นแหละ ก็คือหลักที่เรียกว่า ศีล ศีลอยู่ในหลักหัวใจพระพุทธศาสนาเป็นข้อที่หนึ่ง เพราะฉะนั้น ความหมายของคำว่า ศีล อย่างหนึ่ง ก็คือ การเว้นจากความชั่ว โดยเฉพาะความชั่วสามัญในโลก ก็คือการเบียดเบียนกันของมนุษย์

เพราะฉะนั้น ความหมายของศีลเบื้องต้นทีเดียว ก็ได้แก่การเว้นจากการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ที่ว่าสำรวม ก็คือระวังกาย วาจา ของเราไม่ให้ไปเบียดเบียนคนอื่น ไม่ให้ไปพูดร้ายทำร้าย ถ้าเบียดเบียนทางกาย ทำร้ายชีวิต ก็เรียกว่า ปาณาติบาต เบียดเบียนทางทรัพย์สินก็เรียกว่า อทินนาทาน เบียดเบียนในเรื่องคู่ครองก็เรียกว่า กาเมสุมิจฉาจาร เบียดเบียนด้วยวาจา หรือคำพูดก็เรียกว่า มุสาวาท เบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนสติสัมปชัญญะของตนก็คือข้อ สุราเมรัย ทั้งหมดนี้ท่านให้สำรวมระวัง คือ สำรวมระวังที่จะไม่เบียดเบียน ไม่ล่วงละเมิด ความหมายของศีลว่าโดยสาระสำคัญก็นี่แหละ คือการเว้นความชั่วงดเว้นจากการเบียดเบียนกัน ต่อจากนั้นก็จะฝึกให้ประณีตยิ่งๆ ขึ้นไป แต่ศีลที่เป็นเบื้องต้นทีเดียวนั้น สำหรับมนุษย์ทั่วไปท่านเรียกว่า เป็นมนุษยธรรม ถ้าประพฤติปฏิบัติตามศีล ๕ ก็เรียกว่า มีมนุษยธรรม ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติขั้นต้นของความเป็นมนุษย์ ต่อจากนั้นก็พร้อมที่จะทำความดียิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อเสริมความเป็นมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ที่ดีงาม ตลอดจนเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจเป็นเทพ เป็นพรหม อย่างที่ท่านเรียกว่า มนุสฺสเทโว ก็ได้ หรือแม้กระทั่งเป็นมนุษย์ที่บริสุทธิ์เป็นพระอรหันต์ได้ในที่สุด

อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบกันในระบบชีวิตที่เรามีพระสงฆ์เป็นนักบวชฝ่ายหนึ่ง และคฤหัสถ์ฝ่ายหนึ่ง เราก็เรียกศีล ๕ นี้ว่า เป็นคฤหัสถธรรม หรือธรรมะของคฤหัสถ์ ถ้าคฤหัสถ์มีธรรมะ ได้แก่ ศีลเบื้องต้นนี้ ๕ ข้อ ก็เรียกว่ามีคุณสมบัติของคฤหัสถ์ที่ดี แต่ถ้าเป็นพระสงฆ์ก็ถือว่าศีล ๕ ไม่เพียงพอ ต้องบำเพ็ญศีลให้ยิ่งขึ้นไป ถ้าเป็นพระภิกษุก็ ถือว่ามีศีล ๒๒๗ ถ้าเป็นภิกษุณีก็มี ๓๑๑ ข้อ เพราะฉะนั้น ศีลก็เลยมีเพิ่มเติมนอกเหนือยิ่งขึ้นไปกว่าเพียงศีล ๕ เท่านั้น แต่ศีลที่เพิ่มมากขึ้นไปนั้น โดยมากก็เป็นข้อปฏิบัติเพื่อฝึกฝนตน เช่น ศีล ๘ ของญาติโยมความจริงญาติโยมถือศีล ๕ นี้ก็เพียงพอจะเป็นคฤหัสถ์ที่ดีแล้ว แต่เมื่อต้องการจะปฏิบัติฝึกฝนตนให้ยิ่งขึ้นไป ก็จึงถือศีล ๘ ศีล ๘ นี้ถ้าเรียกตามศัพท์ ท่านจัดเข้าในจำพวกวัตร วัตร คือ ข้อปฏิบัติพิเศษที่เราทำเพื่อจะฝึกฝนตนเองขัดเกลากิเลสของตนเอง เพื่อเตรียมจิตให้พร้อมที่จะบำเพ็ญคุณความดีอื่นๆ ให้มากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อมีศีล ๕ แล้ว ถ้าเป็นพุทธศาสนิกชนผู้ต้องการความเจริญในธรรมะก็อาจจะไม่หยุดอยู่แค่ศีล ๕ ก็นำเอาศีล ๘ และศีลที่ยิ่งๆ ขึ้นไปมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้เจริญงอกงามในธรรม

อย่างไรก็ดี ถ้าว่าตามหลักปฏิบัติในทางธรรมแล้ว ท่านบอกว่ามีเพียงศีล ๕ ก็เจริญในสมาธิปัญญาได้สำเร็จเพราะว่าศีล ๕ นั้นเมื่อประพฤติปฏิบัติถูกต้อง ท่านก็เรียกว่าเป็นอธิศีลเหมือนกัน อธิศีลนั้นเมื่อมีแล้ว ก็ทำให้พร้อมที่จะเจริญในอธิจิต ในอธิปัญญาต่อไป เป็นความก้าวหน้าในการบำเพ็ญไตรสิกขา หมายความว่า ผู้มีศีล ๕ ที่ ประพฤติปฏิบัติถูกต้อง สามารถปฏิบัติบำเพ็ญไตรสิกขาให้บริบูรณ์ จนกระทั้งบรรลุความเป็นอริยบุคคลได้ แต่ผู้ใดต้องการจะขัดเกลาตนเองให้ยิ่งขึ้นไป จะนำเอาศีล ๘ ศีล ๑๐ มารักษา ท่านก็อนุโมทนาด้วย อันนี้ก็เป็นความรู้บางอย่างเกี่ยวกับศีล

มีข้อที่ควรทราบอีกอย่างหนึ่ง คือ เรื่องที่อาตมภาพได้บอกไว้ว่า ศีลนั้นมีความหมายอย่างหนึ่งว่า การงดเว้นหรืองดเว้นจากความชั่ว ศัพท์ว่า งดเว้นจากความชั่วนี้ ท่านมีคำบาลีให้อีกศัพท์หนึ่งเรียกว่า วิรัติ หรือวิรติ วิรัติหรือวิรติ นี้แปลว่า ความงดเว้น ท่านสอนให้รู้ว่าการงดเว้นที่เป็นศีลนี้ คนเราจะทำได้ ๓ วิธีด้วยกัน เรียกว่า วิรัติ ๓

วิรัติ ๓ ก็คือ

๑. สัมปัตตวิรัติ งดเว้นเมื่อไปประจวบเข้าเฉพาะหน้า หมายความว่า คนเรานี่บางทีก็งดเว้นความชั่วอย่าง
ฉับพลันในเมื่อไปประสบเข้ากับสิ่งนั้นเฉพาะหน้า

๒. สมาทานวิรัติ งดเว้นเพราะได้สมาทานไว้ คือ เราได้ตั้งใจถือศีล รับศีลไว้ ก็เลยปฏิบัติตามที่ตนสมาทาน

๓. สมุจเฉทวิรัติ งดเว้นโดยเด็ดขาด

อันนี้อาตมาภาพจะอธิบายย่อๆ เพื่อจะได้เข้าใจหลักการประพฤติปฏิบัติตามศีลไว้

ประการที่หนึ่ง สัมปัตตวิรัติ งดเว้นเมื่อไปประจวบเข้าเฉพาะหน้า หมายความว่า เราไปประสบเหตุการณ์
สถานการณ์ที่จะละเมิดศีลขึ้นมา เช่น เดินไปเห็นของของผู้อื่น ซึ่งโอกาสเปิดเต็มที่ว่าเราจะหยิบเอาได้ ตอนนี้ก็เป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะตัดสินใจเลือกว่าจะทำอย่างไร ในเวลานั้น ถ้าหากเราได้คิดขึ้นมาพิจารณาว่า โอ้ ! เรานี้เป็นพุทธศาสนิกชนไม่สมควรจะทำความผิดความชั่วอย่างนี้ การล่วงละเมิดกรรมสิทธิ์ผู้อื่นเป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม แล้วงดเว้นได้ไม่เอาของนั้น หรือแม้แต่พิจารณาว่า เรานี้เป็นคนที่เขาเคารพนับถือ ไม่ควรทำความชั่วอย่างนี้ ก็งดได้เฉพาะหน้าในเวลานั้นโดยเหตุผลที่คิดขึ้นมาในบัดนั้นเอง อย่างนี้ท่านเรียกว่า สัมปัตตวิรัติ งดเว้นในเมื่อไปประสบเหตุการณ์เข้าเฉพาะหน้า

ประการที่สอง สมาทานวิรัติ เราได้สมาทานศีลไว้ ตั้งใจรับศีลเหมือนกับไปสัญญาหรือปฏิญาณไว้แล้ว เมื่อไปประกอบเหตุการณ์เข้า เช่นตัวอย่างเมื่อกี้นี้ ไปเห็นของที่สามารถจะถือเอามาเป็นของตนได้ แต่มาพิจารณาว่าเราได้สมาทานรับศีลไว้แล้ว เป็นคนถือศีลปฏิญาณบอกกับพระไว้หรือตั้งใจกำหนดใจไว้แล้ว เราก็ไม่ละเมิดศีลไม่ทำความชั่วนั้น อย่างนี้ท่านเรียกว่า สมาทานวิรัติ คืองดเว้นเพราะได้ตั้งใจรับเอาไว้ถือเอาไว้ที่จะปฏิบัติอย่างนั้น

ประการที่สาม สมุจเฉทวิรัติ งดเว้นโดยเด็ดขาด อันนี้หมายถึงว่า ไม่มีกิเลสในใจ คือ ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลงเหลืออยู่ในใจเลย เพราะฉะนั้นก็ไม่มีกิเลสที่จะเป็นเหตุให้ทำความชั่ว ถ้าอย่างนี้แล้วก็เรียกว่า เป็นไปโดยอัตโนมัติ จะไปประสบเหตุการณ์อะไรก็ตามที่จะทำให้ละเมิดศีล ก็ไม่มีทางละเมิด เพราะไม่มีกิเลสที่จะเป็นเหตุให้ละเมิดหรือให้ทำความชั่วนั้นๆ อย่างนี้ท่านเรียกว่า สมุจเฉทวิรัติ ได้แก่การงดเว้นความชั่วของพระอริยบุคคล โดยเฉพาะพระอรหันต์ เพราะไม่มีกิเลสที่เป็นต้นเหตุของการทำชั่วเหลืออยู่เลย เป็นอันว่าไม่ทำความชั่วโดยสิ้นเชิง

นี้คือวิรัติ ๓ อย่างที่เป็นความรู้ประกอบ เป็นหนทางในการที่จะถือศีล แต่สำหรับพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปมักจะใช้วิธีสมาทานวิรัติ คืองดเว้นโดยสมาทานไว้อย่างไรก็ตามถึงแม้จะไม่ได้สมาทาน ก็ยังมีสัมปัตตวิรัติ คือใช้เหตุผลพิจารณาถึงภาวะของตนเฉพาะหน้านั้น โดยอาศัยหิริโอตตัปปะ ทำให้ไม่ละเมิดศีลไม่ทำความชั่ว นี้ก็เป็นความรู้บางอย่างที่อาตมภาพนำมากล่าวเกี่ยวกับเรื่องศีล

อยากจะขอปิดท้าย ด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับความสำคัญของศีล พระพุทธเจ้าตรัสว่าศีลนั้นมีความสำคัญเหมือนกับเป็นผืนแผ่นดิน หรือพื้นที่เรายืนเรานั่ง พื้นนั้นมีความสำคัญอย่างไร ท่านบอกว่า คนเรานี้จะทำงานทำการอะไรก็ตาม จะต้องมีพื้นเป็นที่เหยียบยันเสียก่อน ถ้าไม่มีพื้นเป็นที่เหยียบยันแล้วเราก็ไม่สามารถทำงานนั้นได้เลย ท่านบอกว่าศีลก็เปรียบเหมือนพื้นแผ่นดิน หรือพื้นที่เราเหยียบยันนั้น ถ้าพื้นแน่นหนามั่นคง ก็ยิ่งทำงานได้ถนัดและได้ผลดียิ่งขึ้น

ทีนี้ ถึงแม้มีพื้นมีที่เหยียบแล้ว บางคราวพื้นนั้นก็ไม่มั่นคง ถ้าพื้นคลอนแคลนก็ทำงานไม่สะดวก ทำงานไม่ถนัด งานก็อาจจะสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง เช่น ในการตัดต้นไม้ดังตัวอย่างเมื่อกี้ ถ้าพื้นตรงนั้นไม่มั่นคงเช่นเราเหยียบอยู่บนพื้นกระดานที่ปูไว้ไม่ดี คลอนแคลนโยกไปมาเราอาจจะตัดไม่สำเร็จ หรือถ้ากำลังของเราดีและมีดก็คมมากก็อาจตัดได้ แต่ถ้ามีดเกิดไม่คมกำลังของเราก็ไม่ดีก็ไม่มีทางตัดได้สำเร็จ ทั้งหมดนี้ก็สัมพันธ์กัน ถ้าจะเปรียบให้ชัด พื้นดินนั้นก็เหมือนกับศีล กำลังที่ตัดเหมือนสมาธิ ส่วนมีดที่คมเหมือนกับปัญญา ถ้ามีศีลมั่นคงแล้วก็จะเป็นเหตุช่วยให้สมาธิที่เป็นกำลังของเราดีขึ้น แม้เราจะกำลังไม่แข็งแรงเท่าไรแต่พื้นที่มั่นคงนั้นแหละช่วยเราได้ และมีดคือปัญญานั้นแม้จะไม่คมนักก็ยังใช้งานได้สำเร็จ แต่ถ้าศีลของเราไม่มันคงคลอนแคลน เราจะต้องอาศัยปัญญาที่เป็นมีดอันคมกริบและกำลังคือสมาธิที่เข้มแข็งมาก

อย่างไรก็ตาม เป็นอันว่าศีลเป็นหลักสำคัญในเบื้องต้น เป็นพื้นที่เหยียบยันที่จะทำงานให้สำเร็จ เพราะฉะนั้น
ท่านจึงสอนให้พุทธศาสนิกชนเห็นความสำคัญของศีลแล้วพยายามที่จะเจริญศีลขึ้นมา รักษาศีลให้เป็นปกติให้เป็นพื้นที่มั่นคงอยู่ในชีวิตจิตใจ ศีลนั้นเป็นพื้นฐานที่มั่นคงในจิตใจของตนเองด้วยในทางสังคมด้วย เมื่ออยู่ภายในใจของตนเอง จิตใจของตนเองก็สงบเยือกเย็น ไม่กระวนกระวาย จะบำเพ็ญสมาธิก็ทำได้สะดวกขึ้น จะคิดนึกอะไรเพื่อเจริญปัญญาก็ทำได้สะดวกปลอดโปร่ง

ทีนี้ เมื่อแสดงออกมาในภายนอกก็เกิดคุณค่าของศีลในระดับสังคม กล่าวคือ ถ้าคนเราไม่เบียดเบียนกันสังคมมีความเป็นปกติสุข ก็เรียกว่าสังคมนั้นมีความมั่นคงคนจะทำงานทำการทำธุรกิจอะไรก็ทำได้สะดวก แต่ถ้าสังคมนี้มีการเบียดเบียนกันมาก เราจะเห็นว่าแม้จะไปไหนมาไหนก็หวาดระแวงกลัวภัยอันตราย เพราะฉะนั้นจะดำเนินธุรกิจ หรือทำอะไรก็ไม่สะดวกไปทุกอย่างกิจกรรม บางอย่างก็ต้องเว้น เช่น จะไปไหนค่ำคืนก็ไปไม่ได้ หรือจะไปในสถานที่บางแห่งก็ไปไม่ได้ การงานของมนุษย์ก็ติดขัดไม่เป็นไปโดยสะดวก ในระดับสังคมก็ดีในระดับจิตใจก็ดี ศีลก็มีความสำคัญอย่างที่กล่าวมานี้

เพราะฉะนั้น จึงต้องสร้างศีลไว้เป็นพื้นฐานอันมั่นคงในจิตใจและในสังคม แล้วก็จะทำให้เกิดความพร้อมที่จะดำเนินก้าวหน้าไปในกิจการงานทั้งที่เรียกว่าทางโลกและทางธรรม ทั้งในทางสังคมและในจิตใจของแต่ละคน ศีลมีความสำคัญและอานิสงส์ดังกล่าวมานี้ โดยเฉพาะก็เป็นพื้นฐานที่จะก้าวต่อไปในสมาธิและปัญญา ส่วนเรื่องสมาธิและปัญญาเป็นอย่างไร อาตมภาพคงจะมีโอกาสกล่าวต่อไปในเบื้องหน้า

ที่มา http://www.dhammajak.net/book-dhammaraksa/-11-2.html