สงเคราะห์โลงศพฟรี สงเคราะห์เผาศพฟรี สงเคราะห์ลอยอังคารฟรี แก่ผู้ยากไร้ไร้ญาติ


สีลัพพตปรามาส

สีลัพพตปรามาส คือ ความยึดถือว่าบุคคลจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีลและวัตร (คือ ถือว่าเพียงประพฤติศีลและวัตรให้เคร่งครัดก็พอที่จะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ไม่ต้องอาศัยสมาธิและปัญญาก็ตาม ถือศีลและวัตรที่งมงาย หรืออย่างงมงายก็ตาม), ความถือศีลพรตโดยสักว่า ทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย หรือโดยนิยมว่าขลังว่าศักดิ์สิทธิ์ ไม่เข้าใจความหมายและความมุ่งหมายที่แท้จริง, ความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ด้วยเข้าใจว่า จะมีได้ด้วยศีลหรือพรตอย่างนั้นอย่างนี้ล่วงธรรมดาวิสัย (ข้อ ๓ ในสังโยชน์ ๑๐)

คำนิยามความหมายของ “สีลัพพตปรามาส” ข้างต้นนี้นำมาจาก “พจนานุกรมพุทะศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์” ของพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)

เรื่องของสีลัพพตปรามาสนี้ จัดว่าเป็นเรื่องสำคัญสุดยอดที่ผู้รักษาศีลทุกประเภทไม่ว่าศีล ๕ ศีล ๘ (อุโบสถศีล) ศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗ ก็ตาม ควรที่จะให้ความสนใจหรือทำความเข้าใจในจุดมุ่งหมายให้แจ้งชัดก่อนที่จะตั้งใจ
เจตนาวิรัติหรืองดเว้น เพราะถ้าไม่ศึกษาให้เข้าใจอย่างถูกต้องเสียก่อนแล้วโอกาสที่จะเขว หลงทิศ หรืองมงายย่อมมีทางเป็นไปได้สูงมาก เพราะเหตุว่าแต่ละคนย่อมมีอุปนิสัย จริต หรือมีแนวโน้มแห่งจิตต่างกัน บางคนชอบทำในสิ่งที่ยากๆ ที่คนธรรมดาทำได้ลำบากให้เห็นเป็นของแปลกหรืออัศจรรย์ ยิ่งทำได้ยากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะมีความยึดถือว่าศีลจะบริสุทธิ์ได้มากเท่านั้น เช่น ไม่นอนหรือนอนให้น้อย ไม่สวมรองเท้า ไม่ฉันปลาเนื้อ ไม่ดื่มน้ำปานะ ไม่พูด อดอาหารหลายๆ วัน เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ศีลแต่เป็นวัตร เพื่อการขัดเกลากิเลสตัณหา ถ้าเข้าใจผิดแทนที่กิเลสตัณหาจะเบาบาง มันก็
กลับจะกลายเป็นการส่งเสริมให้เกิดมานะและความยึดติดที่เหนียวแน่นยิ่งขึ้น มากกว่าเก่าเสียด้วยซ้ำ โปรดระลึกไว้เสมอว่า การทำอะไรที่ไม่ถูกต้องนั้น สู้ไม่ทำเสียเลยยังจะดีกว่า เพราะจิตของคนเรานั้น โดยปกติ (ส่วนตื้น) เป็นของบริสุทธิ์ เมื่อประทับอะไรไว้แล้วก็ยากที่จะลบเลือน หรือเปลี่ยนแปลงได้ เหมือนผ้าขาวที่นำมาย้อมสี แล้วนำไปซักล้างให้สีออก ย่อมเป็นการยากที่จะทำให้ผ้าขาวเหมือนเดิม แต่ถ้าการย้อมนั้นเป็นการย้อมสิ่งที่ดีที่ถูกต้องก็กลายเป็นการเพิ่มคุณภาพจิตให้ดียิ่งขึ้น แต่ถ้าย้อมติดในสิ่งที่ไม่ดี ก็จะทำให้คุณภาพจิตกลับเสื่อม แล้วแก้ภายหลังยาก ด้วยเหตุดังกล่าวมา ในการรักษาศีลเพื่อการพัฒนาจิตหรือพัฒนาปัญญาจึงควรที่จะต้องศึกษาความมุ่งหมายก่อน เพราะมิฉะนั้นแล้วมันจะเกิดเขวเข้าไปติดอยู่ในฝ่ายของสีลัพพตปรามาสได้อย่างง่ายดาย โดยไม่รู้ตัวเลย

นอกจากจะไม่รู้ตัวแล้ว บางทีอาจหลงภูมิใจตัวเองว่า เออหนอ, เรานี้ช่างรักษาศีลได้อย่างเคร่งครัด และครบถ้วนดีจริงหนอ พร้อมกันนั้นก็จะพลอยนึกดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยามคนอื่น ว่าเขาเลวกว่าเรา เขาทำไม่ได้อย่างเรา
เขาไม่เคร่งเหมือนเรา.…. ความหลงผิดของจิตนี้เป็นสิ่งที่แก้ได้ยากมาก บางคนจนตายก็แก้ไม่ได้ ที่เราเห็นนักบวชเกิดการขัดแย้งกันในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ส่วนมากก็จะเกิดจากศีล อันได้แก่ ระเบียบ วิธีการ ข้อบัญญัติ กติกาต่างๆ ที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับ

ในทางพระ เราถือว่าความขัดแย้งต่างๆ นั้นเกิดจาก ๒ จุดใหญ่ คือ สีลสามัญญตา และทิฏฐิสามัญญตา

สีลสามัญญตา ความสม่ำเสมอกันโดยศีล คือ รักษาศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนภิกษุสามเณร ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจของหมู่คณะ ไม่สร้างปมเด่นเฉพาะตน

ทิฏฐิสามัญญตา ความเป็นผู้มีความเสมอกันโดยทิฐิ (ความเห็น), มีความเห็นร่วมกัน, มีความคิดเห็นลงกันได้, ไม่ถือรั้นเอาแต่ความเห็นของตนฝ่ายเดียว, ถือความถูกต้องเป็นแนวทาง

แน่นอน, ถ้าเรารักษาศีลตามประเพณี ตามค่านิยมฝ่ายลบ ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปสนใจเรื่องของสีลัพพต-ปรามาสหรอก เขาบอกยังไง เขาสอนยังไง เขาทำกันยังไง ? เราก็ทำตามๆ เขาไปเถอะ แต่ว่าการรักษาศีลโดยขาดปัญญานั้นต่อให้รักษาถึง ๑๐๐ ปี ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น นอกจากจะเสียลมปากที่ต้องว่าตามเขาและต้องนั่งรับศีลกันจนก้นด้าน เท่านั้นแหละ !

ดังนั้น ผู้ที่สนใจการรักษาศีลเพื่อการพัฒนาจิต หรือพัฒนาปัญญา ก็ควรที่จะให้ความสนใจในสีลัพพตปรามาสด้วย เพราะถ้าไม่ศึกษา (ฟัง, อ่าน) ให้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว โอกาสที่ท่านจะรอดพ้นไปจากสีลัพพตปรามาสก็เป็นไปได้ยากมาก พึงเห็นตัวอย่าง คนที่ภายหลังจากรักษาศีลแล้ว กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว จัดขึ้น ปากจัด โกรธง่าย ขี้บ่น นินทาคนเก่งขึ้น ถือนิกาย ติดสำนัก ติดอาจารย์..ล้วนแต่เกิดจากการรักษาศีลหลับ (งมงาย) หรือการรักษาศีลที่ไม่พัฒนาให้เกิดปัญญาทั้งสิ้น

ที่มา http://www.dhammajak.net/book-dhammaraksa/-8-2.html