สงเคราะห์โลงศพฟรี สงเคราะห์เผาศพฟรี สงเคราะห์ลอยอังคารฟรี แก่ผู้ยากไร้ไร้ญาติ


พระอรหันต์ยังต้องทำอุโบสถ

สมัยนั้น พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระมหากัปปินเถระอยู่ในที่สงบสงัดท่านเกิดความคิดขึ้นว่า “เราควรไปทำอุโบสถหรือไม่ควรไป ? ควรไปทำสังฆกรรมหรือ หรือไม่ควรไป ? เพราะโดยแท้จริง เราก็เป็นผู้หมดจดแล้ว (ท่านบรรลุพระอรหันต์แล้ว) ด้วยความหมดจดอย่างยิ่ง”

ครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของท่านพระมหากัปปินเถระ ด้วยพระทัยของพระองค์จึงได้ทรงหายพระองค์จากเขาคิชฌกูฏ มาปรากฏพระองค์อยู่ตรงหน้าพระมหากัปปินเถระ ที่มัททกุจฉิมฤคทายวัน เปรียบเหมือนคนมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น

เมื่อทรงชี้แจงความปริวิตกของพระมหากัปปินเถระที่ทรงทราบ จนพระมหากัปปินเถระยอมรับแล้ว จึงตรัสว่า

“พราหมณ์ (ภิกษุ) ทั้งหลาย ! ถ้าพวกเธอไม่สักการะไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชาซึ่งอุโบสถ เมื่อเป็นเช่นนี้ใครเล่าจักสักการะเคารพ นับถือ บูชาซึ่งอุโบสถ ?

พราหมณ์ (ภิกษุ) ! เธอจงไปทำอุโบสถ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจักสักการะเคารพ นับถือ บูชาซึ่งอุโบสถ ?

พราหมณ์ (ภิกษุ) ! เธอจงไปทำอุโบสถ ? จะไม่ไปไม่ได้ จงไปทำสังฆกรรม จะไม่ไปไม่ได้ ฯ”

ท่านพระมหากัปปินเถระ กราบทูลรับสนองพระพุทธพจน์แล้ว พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมให้พระมหากัปปินเถระ ได้เห็นแจ้งอาจหาญ และร่าเริงในธรรมมีกถา แล้วได้เสด็จกลับไป

อุโบสถขันธกะ วินัย ๔/๒๐๑

ส่วนเสริม

เรื่องของท่านพระมหากัปปินเถระ น่าจะเป็นแบบอย่างให้พระทุกวันนี้เห็นความสำคัญของการลงอุโบสถ หรือ ลงฟังปาฏิโมกข์ได้อย่างดีมากทีเดียว เพราะขนาดพระอรหันต์ ท่านหมดกิเลสตัณหาแล้ว พระพุทธองค์ยังทรงไล่ให้ไปลงอุโบสถเลย แล้วพระปุถุชนธรรมดาอย่างเราๆ จะมิถูกท่านด่าเราแรงๆ หรือ ถ้าเราพากันละเลยการลงอุโบสถ ?

น่าเสียดายที่พระทุกวันนี้ ส่วนมากจะลงอุโบสถเฉพาะในเวลาเข้าพรรษาเท่านั้น พอออกพรรษาซึ่งเป็นเวลาถึง ๙ เดือนกลับไม่สนใจ ไม่เห็นความสำคัญของการฟังปาฏิโมกข์ น่าสลดใจหนอ !

ที่กิจพระศาสนาสำคัญ เพียง ๑๕ วันลงฟังปาฏิโมกข์ ๑ ครั้งไม่ถึงชั่วโมง ก็พากันละเลยเสียแล้ว แล้วจะไปหวังความเจริญงอกงามในคุณธรรมอื่นๆ ได้อย่างไรกัน ? จริงอยู่ ในการฟังปาฏิโมกข์นั้น ผู้ที่ไม่เรียนบาลีมาก่อนย่อมจะฟังไม่รู้เรื่อง จึงชวนให้ง่วงนอน และดูเหมือนว่า คำสวดนั้นจะเป็นบทกล่อมให้จิตเคลิบเคลิ้มอยากจะหลับก็ตามทีเถอะ

แต่นั่นก็ไม่ใช่ความผิดของภาษาบาลี และไม่ควรที่จะแปลคำสวดเป็นไทยด้วย แต่ถ้าเราบวชเข้าไปแล้ว เรียนนักธรรมตรี และสนใจพระวินัย ท่องได้ เราก็ย่อมจะรู้ความหมายในคำสวดนั้นๆ โดยไม่ยากเลย กลับจะเป็นการดีเสียอีก ที่เราจะได้ตรวจสอบศีล ๒๒๗ ข้อของเราในรอบ ๑๔ หรือ ๑๕ วัน ว่ามีข้อไหนบกพร่องหรือขาดไปบ้าง ? ก็จะได้ทำคืน (แสดงอาบัติ) เมื่อฟังปาฏิโมกข์จบ และจะได้สำรวมระวังในโอกาสต่อไป

การลงฟังปาฏิโมกข์ นอกจากเป็นการตรวจสอบศีลที่ดีแล้วยังได้ผลพวงมาอีกอย่างน้อยก็สามอย่าง คือ ความสามัคคีในหมู่สงฆ์ เป็นการดัดสันดานความเกียจคร้าน และเป็นตัวอย่างที่ดีของคนรุ่นหลังอีกด้วย ถ้านักบวชรูปใดไม่ให้ความเอื้อเฟื้อในศีล ก็ย่อมจะหาความเจริญในธรรมวินัยยาก ขืนบวชอยู่นานไปเท่าไรศีล ก็จะเหลือน้อยตัวเข้าเท่านั้น จนหนักเข้าแม้แต่ศีล ๕ ข้อ (เบญจศีล) ก็จะมีไม่ครบ !

การบวชโดยไม่เอื้อเฟื้อในศีลนั้น จิตใจจะไม่มีการพัฒนา ยิ่งบวชนานกิเลส ก็จะยิ่งหนา และตัณหาก็จะยิ่งจัด เพราะเพียงแต่ขั้นศีลยังรักษาไว้ไม่ได้ แล้วจะไปพัฒนาจิตให้เกิดปัญญาก็เมินเสียเถิด ถ้าปัญญาไม่ถูกพัฒนา การบวชก็ย่อมจะมีแต่โทษ สู้สึกออกไปทำมาหากินเลี้ยงปากท้องตัวเอง ยังจะดีเสียกว่าบวชอยู่ ให้เกิดเวรกรรมที่จะต้องไปชดใช้เขา

ถ้านักบวชรูปใดไม่อยากจะเป็นหนี้เขา ในเบื้องต้นก็ขอให้เห็นความสำคัญของการลงอุโบสถให้ได้เป็นประจำก่อน เมื่อศีลดีแล้วก็ควรพัฒนาจิตให้เกิดปัญญาต่อไป ถ้าท่านปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ ชีวิตในเพศนักบวชของท่าน ก็ย่อมจะมีแต่ความรุ่งเรืองและผ่องใสเย็นกาย เย็นใจ จะนั่งจะนอนก็มีแต่ความสงบและเป็นสุข

ที่มา http://www.dhammajak.net/book-dhammaraksa/-4-2.html